Last updated: 20 ก.พ. 2567 | 320 จำนวนผู้เข้าชม |
1. ความหนาของเมทัลชีทกับการใช้งาน
เมทัลชีทเป็นหนึ่งในวัสดุก่อสร้างที่มีความหนาให้เลือกหลากหลาย เนื่องจากความหนาแต่ละระดับจะเหมาะกับลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันไป ยิ่งไปกว่านั้นความหนาที่เพิ่มขึ้นยังหมายถึงความแข็งแรงและการป้องกันเสียงที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทว่ามีสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ความหนาของเมทัลชีทมีผลต่อการออกแบบ การรับน้ำหนักของโครงสร้าง และความแข็งแรงของอาคารโดยตรง หากเลือกเมทัลชีทที่มีความหนาที่เหมาะสมกับการใช้งานและโครงสร้างของบ้าน ก็จะช่วยให้การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ แข็งแรง และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น การซ่อมบำรุงเพราะเลือกความหนาผิดประเภทลงไปได้มากทีเดียว โดยตัวอย่างความหนาที่เหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน มีดังนี้
ความหนา 0.23-0.28 มิลลิเมตร : เหมาะกับงานหลังคาขนาดเล็ก เช่น ที่พักอาศัยชั่วคราว
ความหนา 0.30-0.35 มิลลิเมตร : เหมาะกับงานหลังคาและผนังขนาดเล็กที่มีระยะแปไม่เกิน 1.2 เมตร เช่น บ้านพักอาศัย ส่วนต่อเติม โรงจอดรถ และกันสาด
ความหนา 0.35-0.40 มิลลิเมตร : เหมาะกับงานหลังคาขนาดกลางและงานผนังทั่วไป เช่น โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กหรือโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง
ความหนา 0.40-0.47 มิลลิเมตร : เหมาะกับงานหลังคาขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่มีระยะแปไม่เกิน 1.5 เมตร เช่น โรงงานหรืออาคารขนาดกลางที่ต้องการการก่อสร้างคุณภาพสูง
ความหนา 0.47 มิลลิเมตรขึ้นไป : เหมาะกับงานหลังคาขนาดใหญ่ที่มีระยะแปถึง 2.5 เมตร เช่น โรงงานหรืออาคารขนาดใหญ่
เอาล่ะ มาถึงตอนนี้ทุกคนคงสังเกตเห็นแล้วว่า ยิ่งสิ่งก่อสร้างมีขนาดใหญ่มากขึ้นเท่าไร ความหนาของเมทัลชีทก็ควรต้องเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ทว่านอกเหนือจากขนาดของสิ่งก่อสร้างแล้ว อย่าลืมพิจารณารูปลอนและระยะแปควบคู่กันไปด้วยนะ
2. การเลือกสีหลังคาให้เหมาะกับสไตล์ของบ้าน
นอกจากความหนาแล้ว เมทัลชีทยังมีพื้นผิวให้เลือกมากมาย เช่น พื้นผิวสะท้อนความร้อน พื้นผิวลายธรรมชาติ และพื้นผิวประกายมุก ตามมาด้วยสีสันที่หลากหลาย ทั้งแบบพื้นฐานและแบบพิเศษ จนทำให้หลายคนเกิดความสับสนและตัดสินใจไม่ถูก ถ้าอย่างนั้นเราลองมาเช็กตัวอย่างการมิกซ์ แอนด์ แมตช์ สีหลังคาให้เข้ากับสีตัวบ้านหรือสไตล์ของบ้านแบบคร่าวๆ กันไว้ก่อน
โมเดิร์น (Modern) : เป็นสไตล์ที่สมาร์ตและทันสมัย โครงสร้างบ้านเป็นทรงสี่เหลี่ยม ตกแต่งเรียบง่าย เน้นหน้าต่างบานใหญ่ไว้เปิดรับแสงจากธรรมชาติ จึงเหมาะกับสีกลาง ๆ หรือสีโทนเย็น ไม่ฉูดฉาด
ทรอปิคอล (Tropical) : เป็นสไตล์ที่อบอุ่น มีความเป็นธรรมชาติ ตัวบ้านมักสร้างจากไม้หรือเหล็กผสมไม้ จึงเหมาะกับสีเอิร์ธโทน
มินิมอล (Minimal) : เป็นสไตล์ที่เรียบง่าย สะอาด มีคอนเซ็ปต์น้อยแต่มาก ตัวบ้านมักเน้นโทนสีสว่าง จึงเหมาะกับสีขาว
อินดัสเทรีล (Industrial) : เป็นสไตล์ที่ดิบ เก๋ เท่ ชิค ตัวบ้านมักตกแต่งด้วยโครงเหล็ก ปูนเปลือย หรือผนังสีเข้ม เหมาะกับหลังคาที่มีสีสันสดใสตัดกัน
3. เมทัลชีทเคลือบสีดีกว่าไม่เคลือบอย่างไร
เนื่องจากเมทัลชีทเคลือบสีต้องผ่านการเคลือบทั้งสังกะสี-อะลูมิเนียม สารปรับสภาพผิว และสีรองพื้นชนิดพิเศษ ก่อนจะนำไปเคลือบสีจริงที่มีคุณภาพสูง ดังนั้นจึงถือเป็นวัสดุก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันสนิม ป้องกันการกัดกร่อน และมีความเชื่อมต่อระหว่างเนื้อเหล็กและเนื้อสีสูงมากกว่าปกติหลายเท่า จนทำให้เมทัลชีทเคลือบสีมีสีสันสวยงามสดใส สามารถนำไปตกแต่งบ้านได้หลากหลาย อีกทั้งยังมีอายุการใช้งานนานขึ้น มีความแข็งแรงทนทานมากขึ้น เมื่อเทียบกับเมทัลชีทไม่เคลือบสีนั่นเอง
4. เลือกที่มี มอก. รับประกัน
สัญลักษณ์ มอก. หรือมาตรฐานอุตสาหกรรม เป็นเครื่องหมายที่ช่วยรับประกันว่า เมทัลชีททุกแผ่นผ่านการตรวจสอบแล้วว่าได้มาตรฐาน ซึ่งเจ้าของบ้านต้องสังเกตและพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อทุกครั้ง เพราะถ้าหากซื้อเมทัลชีทที่ไม่มี มอก. อาจทำให้ได้หลังคาหรือผนังที่ไม่มีคุณภาพ ไม่แข็งแรง ไม่ทนทาน และไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป ซึ่งจะแตกต่างจากเมทัลชีทที่มี มอก. ที่สามารถมั่นใจได้ว่าทุกแผ่นผ่านการตรวจสอบมาแล้วว่า มีความหนาตามที่ระบุไว้จริง อีกทั้งยังได้รับการทดสอบเรื่องการกระแทกและการยึดเกาะของสี ทำให้มั่นใจได้ในคุณภาพ ความแข็งแรง ความทนทาน ใช้งานได้นาน แถมเนื้อสีไม่หลุดล่อน ไม่ซีดจาง และไม่เป็นรอยง่ายด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://home.kapook.com/view219087.html