Last updated: 8 ม.ค. 2567 | 459 จำนวนผู้เข้าชม |
หากเป็นงานโครงสร้างหลักของบ้าน งานคอนกรีต งานประปา ระบบไฟฟ้า บ้านไอเดียแนะนำให้เจ้าของบ้านจ้างเหมา เพื่อให้ผู้รับเหมาสะดวกต่อการดำเนินงานและเจ้าของบ้านไม่ต้องเหนื่อยกับการหาซื้อวัสดุด้วยตนเอง แต่หากเป็นงานที่มองเห็นดีไซน์ชัด ๆ หรือมีผลกระทบกับการอยู่อาศัยโดยตรง เช่น งานสุขภัณฑ์ห้องน้ำ, กระเบื้องปูพื้น และงานหลังคา แนะนำให้เจ้าของบ้านมีบทบาทสำคัญในการเลือกใช้วัสดุ เพื่อให้ได้บ้านที่ตรงกับโจทย์ความต้องการ ทั้งด้านการใช้งานและความสวยงามของบ้าน เนื้อหานี้พาไปเรียนรู้การเลือกวัสดุหลังคาเมทัลชีท ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกหลายสเปค หลายเกรด สเปคแบบไหนที่เหมาะกับนำมาใช้ร่วมกับงานหลังคา ศึกษารายละเอียดก่อนคุยกับผู้รับเหมากันครับ
ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงก่อนว่า เนื้อหานี้ไม่ได้มีเจตนาตำหนิผู้รับเหมานะครับ ผู้รับเหมาที่ดีจะมีความตั้งใจเลือกสรรวัสดุคุณภาพดีให้กับเจ้าของบ้าน ตามงบประมาณที่เจ้าของบ้านกำหนดไว้ แต่ต้องยอมรับความจริงที่ว่า ปัจจุบันมีผู้รับเหมามากหน้าหลายตาที่ไม่ได้มีเจตนาดีต่อเจ้าของบ้านนัก ก่อให้เกิดปัญหาการโกงสเปค การทิ้งงานกระทั่งเกิดเรื่องขึ้นโรง ขึ้นศาลกันบ่อยครั้ง ซึ่งการสร้างบ้านแต่ละหลังนับเป็นความใฝ่ฝันและความหวังครั้งใหญ่ของผู้เป็นเจ้าของบ้าน การศึกษาข้อมูลไว้เพื่อให้รู้จักวัสดุ รู้จักสเปคต่าง ๆ ก็เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นครับ
โดยเฉพาะงานหลังคาบ้าน เป็นงานที่หากติดตั้งเสร็จแล้ว เจ้าของบ้านแทบจะตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย การเลือกสเปควัสดุให้ดีตั้งแต่ต้น หรือมีการติดตั้งโดยผู้ชำนาญ จะช่วยป้องกันปัญหาต่าง ๆ ภายหลังได้เป็นอย่างดี
1. ความหนาต่างกัน การใช้งานต่างกัน
โดยทั่วไปผู้รับเหมาจะนิยมเลือกวัสดุหลังคาเมทัลชีทที่มีความหนา 0.3 มิลลิเมตรให้กับเจ้าของบ้าน เป็นสเปคความหนาระดับพื้นฐานที่สามารถนำมาใช้ทำหลังคาบ้านได้ แต่หากเจ้าของบ้านต้องการคุณภาพในการใช้งาน ทั้งการลดเสียงรบกวนเมื่อฝนตก ลดความร้อนให้กับตัวบ้าน ความหนา 0.3 มิลลิเมตร จัดเป็นสเปคเริ่มต้นเท่านั้น ความหนาที่แนะนำให้เจ้าของบ้านเลือกใช้ ควรมีความหนา 0.4-0.47 มิลลิเมตร หรืออย่างน้อยที่สุด 0.35 มิลลิเมตร และที่ต้องระวังอย่าเลือกความหนาต่ำกว่า 0.3 มิลลิเมตรเด็ดขาด เพราะความหนาระดับนี้จะไม่เหมาะกับงานหลังคา แต่เป็นงานรั้วหรืองานอื่น ๆ ที่ไม่ได้ต้องการความทนทานมากนัก
2. หลังคาเมทัลชีททั่วไป ไม่ได้เคลือบสีให้นะ
หลังคาเมทัลชีททั่วไป สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ แบบเคลือบสีและไม่เคลือบสี ซึ่งโดยส่วนมากเราจะได้ยินคำพูดจากช่างและผู้รับเหมาบ่อยครั้งว่า “สเปคเท่านี้ก็พอแล้วครับ ใช้งานเหมือนกัน” เป็นเพราะผู้รับเหมาส่วนใหญ่จะยึดมาตรฐานจากตนเองเป็นที่ตั้ง ยิ่งหากเป็นหลังคาเมทัลชีทที่ออกแบบลักษณะหลังคาแบนหรือหลังคาหมาแหงน ผู้อยู่อาศัยแทบจะมองไม่เห็นหลังคา ผู้รับเหมาจึงมักบอกให้เจ้าของบ้านเลือกแบบธรรมดา (ไม่เคลือบสี) ก็เพียงพอ
แต่รู้หรือไม่ว่า สีหลังคาเมทัลชีทไม่ได้มีดีแค่ความสวยงามเท่านั้นครับ หลังคาเมทัลชีทคุณภาพดีจะมีการเคลือบสีสะท้อนความร้อนมาให้ จึงช่วยลดปริมาณความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
3. ออกแบบบ้านหลังคาองศาต่ำมาก ต้องใช้ระบบคลิปล็อค
โดยปกติหลังคาเมทัลชีทจะขึ้นชื่อเรื่องการทำหลังคาองศาต่ำครับ ค่านิยมของเมทัลชีททำให้บ้านไทยในยุคปัจจุบันนิยมหลังคาทรงโมเดิร์นมากขึ้น โดยความลาดชันที่รองรับสำหรับเมทัลชีททั่วไปจะรองรับต่ำสุดที่ 5 องศา แต่หากบ้านใครต้องการหลังคาต่ำเป็นพิเศษหรือออกแบบในลักษณะซ่อนหลังคาเมทัลชีท เพื่อให้รูปลักษณ์ภายนอกของบ้านดูเหมือนบ้านหลังคา Slab คอนกรีต จำเป็นต้องเลือกติดตั้งหลังคาด้วยระบบ Klip-lok แทนระบบสกรูทั่วไป
เหตุผลที่การติดตั้งด้วยระบบสกรูไม่สามารถรองรับกับหลังคาองศาต่ำกว่า 5 องศาได้ เนื่องด้วยองศาที่ต่ำเกินไปจะส่งผลให้การระบายน้ำฝนทำได้ช้าลง อาจก่อให้เกิดปัญหารั่วซึมบริเวณสกรูภายหลัง ส่วนระบบคลิปล็อคสามารถติดตั้งโดยไม่ต้องยิงสกรู ทำให้แผ่นหลังคาเรียบตลอดผืนจึงสามารถวางหลังคาลาดเอียงได้ต่ำสุดถึง 2 องศาครับ
อ่านมาถึงจุดนี้ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า องศาความชัน 2 องศากับ 5 องศาจะมีความแตกต่างกันอย่างไร หากขนาดหลังคามีความยาว 1-5 เมตรจะไม่ค่อยเห็นความแตกต่างมากครับ แต่โดยปกติหลังคาบ้านมีความยาวกว่า 10 เมตรขึ้นไป ความชันเริ่มต้นที่แตกต่างกันเพียง 3 องศา จะมีผลกับความยาวปลายหลังคาเป็นอย่างมาก ส่งผลให้หลังคาลาดเอียงมากเกินไปเป็นลักษณะหลังคาหมาแหงน แต่หากการออกแบบหลังคาบ้านเป็นรูปทรงทั่วไปอยู่แล้ว เช่น จั่ว ปั้นหยา หมาแหงน เจ้าของบ้านสามารถเลือกติดตั้งหลังคาเมทัลชีท ร่วมกับการติดตั้งหลังคาระบบสกรูทั่วไป ซึ่งจะประหยัดงบก่อสร้างได้มากกว่าระบบคลิปล็อค
4. ฉนวนกันร้อน ของมันต้องมี
ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลังคาเมทัลชีทซึ่งผลิตจากวัสดุโลหะเป็นวัสดุที่นำความร้อนได้ดีกว่ากระเบื้องหลังคาทั่วไป แต่เมทัลชีทเองก็มีข้อดีหลาย ๆ ด้าน เช่น คลายความร้อนได้ไว, ติดตั้งรวดเร็ว, น้ำหนักเบาและรองรับการทำหลังคาได้หลากหลายรูปทรง ผู้ใช้งานจึงจำเป็นต้องเรียนรู้จุดเด่นและจุดด้อยของวัสดุนั้น ๆ การนำเมทัลชีทมาใช้งานจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ร่วมกับฉนวนกันร้อนเสมอ
ฉนวนกันร้อนที่ผู้รับเหมาเลือกมาให้ นิยมเลือกฉนวนโฟม PU แบบที่ติดตั้งสำเร็จมากับแผ่นเมทัลชีทแล้ว หรือที่นิยมเรียกกันว่าหลังคาแซนวิช ฉนวนดังกล่าวมีข้อดีด้านความสะดวกในการติดตั้ง กันเสียงและกันร้อนได้ (ขึ้นอยู่กับคุณภาพและความหนาของรุ่นนั้น ๆ ) แต่มีข้อเสียที่พบบ่อยคือ หากผู้รับเหมาเลือกหลังคาแซนวิชด้อยคุณภาพ เมื่อใช้งานไปสักระยะ แผ่น PU จะค่อย ๆ ลอกล่อนหลุดออกมา การเลือกวัสดุหลังคาที่มีคุณภาพจึงมีผลกับการใช้งานในระยะยาวครับ
นอกจากฉนวนกันร้อนชนิด PU แล้ว เจ้าของบ้านสามารถเลือกฉนวนรูปแบบอื่น ๆ เช่น วิธีการพ่นฉนวนโฟม PU ใต้แผ่นเมทัลชีท ซึ่งจะติดทนนานกว่าแบบแซนวิช หรือทำการติดตั้งฉนวนใยแก้วไว้บนฝ้าเพดาน โดยให้เลือกความหนาที่ 6 นิ้ว ฉนวนใยแก้วจะช่วยให้บ้านร้อนช้าลง และเป็นส่วนกันเสียงได้อีกชั้นครับ สิ่งที่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ คือการติดตั้งหลังคาเมทัลชีทโดยไม่มีการป้องกันใด ๆ เลย จะส่งผลให้การอยู่อาศัยร้อนอบอ้าวอย่างแน่นอน
5. ใช้ช่างเฉพาะทางด้านงานหลังคาเมทัลชีทโดยเฉพาะ
หากเป็นผู้รับเหมาที่มีความชำนาญ มีประสบการณ์ในการสร้างบ้านมามาก เมื่อเลือกสเปคหลังคาเรียบร้อยแล้ว เจ้าของบ้านสามารถมอบหน้าที่การติดตั้งหลังคาให้กับผู้รับเหมาได้เลยครับ แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบ เจ้าของบ้านส่วนหนึ่งทำการบ้านในการคัดสรรผู้รับเหมาค่อนข้างน้อย ทำให้เจอกับผู้รับเหมาที่ขาดประสบการณ์และพบเจอปัญหาในกระบวนการติดตั้ง เช่น สเปคเมทัลชีท ไม่สัมพันธ์กับระยะแป , ช่างติดตั้งไม่ถูกวิธี, ติดตั้งหลังคาแอ่นตกท้องช้าง หรือแม้แต่ปัญหาที่เล็ก ๆ ที่เกิดจากการไม่ทำความสะอาดหลังคาเมื่อติดตั้งเสร็จ แต่ผลที่ได้กลับกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาบานปลายในระยะยาว
วิธีการป้องกันได้ดีระดับหนึ่งคือการแยกส่วนในการจ้างงาน เช่น ให้ผู้รับเหมาดูแลงานโครงสร้างบ้าน ดูแลส่วนอื่น ๆ แต่ส่วนหลังคาให้เจ้าของบ้านจ้างแยก โดยว่าจ้างแบรนด์ผู้ผลิตหลังคาเมทัลชีทโดยตรง ซึ่งจะได้ช่างฝีมือดีที่มีประสบการณ์และผ่านการอบรมงานหลังคามาโดยเฉพาะ โดยปกติแล้วทางผู้ติดตั้งจะตรวจเช็คแบบโครงสร้างหลังคาจากแบบบ้านให้เจ้าของบ้านอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบความเหมาะสม เป็นอีกกระบวนการที่ช่วยให้เกิดความแม่นยำยิ่งขึ้นครับ
6. แถมอีกข้อ แผ่นหลังคาต้องต่อเนื่องตลอดทั้งผืน
คุณสมบัติเด่นของเมทัลชีท คือ สามารถป้องกันปัญหารั่วซึมได้ดีกว่าวัสดุหลังคาทุก ๆ ประเภท เหตุผลที่ป้องกันการรั่วซึมได้ดีเนื่องด้วยเมทัลชีทสามารถผลิตให้แผ่นหลังคายาวต่อเนื่องตลอดทั้งผืนได้ ดังนั้น จึงต้องระมัดระวัง กรณีผู้รับเหมาซื้อเมทัลชีทแบบไม่เต็มแผ่นและใช้วิธีการต่อ เพราะรอยต่อเหล่านี้เป็นต้นเหตุของการรั่วซึม ให้เจ้าของบ้านกำหนดสเปคเมทัลชีทแบบยาวต่อเนื่องตลอดผืนเท่านั้น มิเช่นนั้นคุณสมบัติเด่นของเมทัลชีทจะหายไปทันที
ขอบคุณที่มา : https://www.banidea.com/how-to-choose-metalsheet/
8 ม.ค. 2567
8 ม.ค. 2567